แม้โกโก้จะเริ่มต้นปลูกในไทยมานานแล้ว แต่เพิ่งจะมีกระแสร้อนแรงในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีข่าวและกระแสส่งเสริมการปลูกโดยภาคเอกชนจำนวนมาก ทั้งในเชิงส่งเสริมและรับซื้อผลผลิตเพื่อแปรรูป แต่เอาเข้าจริงภาพด้านการส่งเสริมดูจะชัดเจนมากที่สุด มากกว่าภาพด้านการแปรรูปเป็นสินค้า เพื่อบริโภคและส่งออก ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของธุรกิจโกโก้ เป็นตัวชี้วัดว่าโกโก้จะยั่งยืนในระยะยาว หรือ จะเป็นเพียงพืชกระแสเท่านั้น
ทีมงานต้นไม้และสวน จึงขอนำเสนอบทวิเคราะห์โกโก้ สำหรับมือใหม่ ซึ่งเขียนโดย คุณธัชธาวินท์ สะรุโณ นักวิชาการเกษตรเชี่ยวชาญ กรมวิชาการเกษตร เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคนที่คิดจะปลูกโกโก้
เกษตรกรควรศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลดังต่อไปนี้
✅1. บทเรียนโกโก้ของต่างประเทศ กรณีศึกษาจากประเทศร้อนชื้นทางแอฟริกา ลาตินอเมริกา รวมทั้งเอเชีย ในการเปลี่ยนแปลงการปลูกพืชที่มีโกโก้เข้ามาในระบบเกษตรที่ได้กล่าวไปในฉบับก่อน
✅2. การให้ผลผลิตของโกโก้ ปัญหาการผลิตโกโก้คือ ศัตรูพืชทำลาย ผลสดคุณภาพต่ำ เมล็ดเล็ก การทำเมล็ดแห้งได้คุณภาพต่ำ การเจริญเติบโตของโกโก้ ชอบสภาพแสงรำไรไม่มากหรือน้อยเกินไปแบบสวนมะพร้าว
ส่วนในสวนยางพารา งานวิจัยที่ประเทศโกตดิวัวร์ (ไอวอรีโคสต์) รายงานไว้ว่า การปลูกโกโก้ในปีแรกพร้อมยาง โดยปลูกยางเป็นแถวคู่ระหว่างแถว 3 เมตร และเว้นพื้นที่ 16 เมตร ไว้ปลูกโกโก้ 2 แถว การขยายแถวยางเพื่อให้เพิ่มพื้นที่ว่างให้พืชอื่นขยายราก และได้รับแสงแดดที่เพียงพอ ยิ่งมีร่มเงามาก ยิ่งรากยางหนาแน่นมาก โกโก้จะให้ผลผลิตน้อยลง โกโก้ให้รายได้ในปีที่ 4 ยางเริ่มให้รายได้ในปีที่ 8 ในช่วง 12 ปี หลังปลูก ระบบยาง+โกโก้ ให้รายได้ดีกว่าการทำสวนยางแบบเดี่ยว ๆ และหลังปลูกไป 13 ปี รายได้จากยางอย่างเดียวจะไม่ต่างจากการปลูกยาง+โกโก้
✅3. การตลาดโกโก้ ตลาดประเทศไทยต้องประเมินให้รอบคอบและอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ผู้ปลูกต้องตอบคำถามนี้ได้ชัดเจน เช่น ในจังหวัดที่ปลูกมีผู้ซื้อในพื้นที่หรือยัง มีกี่ราย ซื้อมานานหรือยังและจะซื้ออีกนานเท่าไร ถ้าไม่มีคนซื้อเสียหายอย่างไร จะมีทางออกอย่างไร แปรรูปได้ไหม แปรรูปแล้วทำคุณภาพดีได้ไหม ขายในท้องถิ่นได้ไหมมีโอกาสขยายไปมากน้อยเท่าไร จะล้นตลาดไหม ราคาจะตกลงเท่าไร คุ้มทุนหรือไม่ เป็นต้น
คำถามเหล่านี้จะทำให้การตัดสินปลูกได้รอบคอบขึ้น ส่วนทางภาครัฐและเอกชน ควรมีการส่งเสริมให้ขยายธุรกิจแปรรูป วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้นำ ทำช็อกโกเเลตในท้องถิ่น หรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ เช่น เครื่องดื่ม มีการเชื่อมโยงกับโรงงานมีการสร้างความนิยมในการบริโภคผลิตภัณฑ์โกโก้ในประเทศ รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคพึงพอใจหันมาบริโภคให้มากขึ้น
✅4. ผลตอบแทน จากการสัมภาษณ์เกษตรกร จ.นครศรีธรรมราช ให้ข้อมูลว่า การปลูกระยะ 4 เมตร ระหว่างพืชหลัก จะได้ประมาณ 50 ต้น/ไร่ 1 ต้นเฉลี่ยจะเก็บผลสดได้ 30 กิโลกรัม/ปี หรือ 1,500 กิโลกรัม/ไร่ หรือประมาณ 150 กิโลกรัมเมล็ดแห้ง ราคาขายผลสด 7.5 บาท/กิโลกรัม หรือ 12,250 บาท/ไร่ หักต้นทุนค่า ปุ๋ย ค่ายา ค่านํ้า แรงงาน ประมาณ 6,000 บาท จะเหลือรายได้ 6,250 บาท/ไร่
ผลผลิตที่ได้จะขึ้นกับการดูแลตัดแต่ง ใส่ปุ๋ย และปัญหาศัตรูพืช ที่จะทำให้ผลผลิตลดลง
แต่ถ้าปลูกในพื้นที่ไกลจากจุดรับซื้อ ราคาซื้อหักค่าขนส่งอาจจะเหลือเพียง 5-6 บาท/กิโลกรัม รายได้ 8,250 บาท/ไร่หรือกำไร 2-3 พันบาท/ไร่
ข้อมูลผลผลิตเมล็ดแห้งต่อไร่ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรรายงานว่า ผลผลิตตลอดระยะเวลาการทดลอง 13 ปี ให้ผลผลิตแห้ง เฉลี่ย 127 กิโลกรัม/ไร่ รายงานผลการวิจัยในประเทศกานา 64-192 กิโลกรัม/ไร่ อินโดนีเซีย 64-128 กิโลกรัม/ไร่ โกตดิวัวร์ (ไอวอรีโคสต์) 70 กิโลกรัม/ไร่ ราคาตลาดค้าขายส่งออกของโลก 2.0 -2.5 เหรียญสหรัฐหรือ 64-80 บาท/กิโลกรัม ประเมินจากข้อมูลดังกล่าวนี้ ถือว่ารายได้ไม่สูงนัก
✅5. การถูกโน้มน้าวโฆษณาชวนเชื่อเกินจริงจากธุรกิจขายพันธุ์พืช
มีประเด็นที่น่าห่วงจากบทเรียนในอดีตของการเชิญชวนหรือหลอกลวง ให้ปลูกพืชบางชนิดที่ไม่มีตลาดรองรับ
หรือพืชบางชนิดไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เกษตรกรจึงควรตระหนักในเรื่องนี้ให้มาก หากพบการเชิญชวนให้ซื้อพันธุ์พร้อมอุปกรณ์
ควรตรวจสอบว่าเป็นของบริษัทที่มีโรงงานแปรรูปจริง และหากมีการดำเนินการเข้าลักษณะกฎหมายเกษตรพันธสัญญาควรปรึกษาสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด
มาร่วมดูแลการทำสัญญา
✅6. ภาคนโนบาย ไทยควร “วางตำแหน่งโกโก้ไว้ตรงไหน” เรื่องนี้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาระยะยาวไม่ใช่เพียงเป็นกระแสระยะสั้น ซึ่งภาคนโยบายน่าจะมีทางเลือกการวางตำแหน่งของไทยไว้ให้ชัดเจน คือ
- ตำแหน่งที่ 1 “เป็นผู้นำการผลิตช็อกโกแลตในเอเชีย” แนวทางนี้ถือเป็นความมั่นคงในการผลิตในประเทศอย่างครบวงจร ไม่ให้มีปัญหาที่ผ่านมาแบบพืชอุตสาหกรรมชนิดอื่น ๆ เราต้องส่งเสริมการตั้งโรงงานช็อกโกแลต และกำหนดปริมาณการปลูกที่เหมาะสมโดยโรงงาน
- ตำแหน่งที่ 2 “เป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบคุณภาพพรีเมียมในเอเชีย” การเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบจะเจอปัญหาถูกกำหนดราคาโดยตลาดโลก ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงเรื่องวังวนแห่งราคาตกต่ำ-ประท้วง-โค่น แต่ในสถานการณ์ที่หลาย ๆ ประเทศผลิตวัตถุดิบคุณภาพยังต่ำ ประเทศไทยจึงต้องทำผลผลิตเกรดคุณภาพสูง
- ส่วนตำแหน่งที่ 3 “เป็นผู้ผลิตช็อกโกแลตและผลิตภัณฑ์โกโก้ที่มีอัตลักษณ์พื้นถิ่นไทย” แนวทางนี้ ต้องส่งเสริมการบริโภคและการแปรรูปนำการผลิต ไม่ส่งเสริมขยายพื้นที่ปลูกวงกว้าง แต่ “ส่งเสริมเมืองโกโก้และช็อกโกแลต” ในเขตท้องถิ่น ชุมชนหรือคลัสเตอร์ และต้องทำครบวงจร มุ่งขายความเป็นไทยขายการท่องเที่ยว ลงในผลิตภัณฑ์ ซึ่งในเป้าหมายประเทศไทย 4.0 ที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดทิศทางเกษตรไทยควรเป็นเกษตรแปรรูป นั่นคือต้องทำผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลต ส่วนการขยายพื้นที่ปลูกต้องประเมินความพอดีกับความต้องการใช้และให้อยู่ในระดับขาดแคลน เพื่อรักษาระดับราคาของเกษตรกรให้สูง มีนำเข้าวัตถุดิบในช่วงฤดูที่ในประเทศให้ผลน้อย
บทสรุปเพื่อเกษตรกรประเมินตนเองก่อนตัดสินใจปลูกโกโก้
แบบประเมินคะแนน 10 ข้อ ข้อละ 10 คะแนนนี้ลองนำมาตรวจสอบความเหมาะสม โดยให้คะแนนในแต่ละข้อตามความพร้อมของแต่ละพื้นที่
ก่อนตัดสินใจปลูกโกโก้
1. ตลาดโลก ปริมาณการผลิตในตลาดโลก
ปัจจุบันประมาณ 4.3-4.5 ล้านตัน ยังเกินปริมาณการใช้อยู่หลักหมื่นตันถึง
2 แสนตัน โดยมีสต็อกสำรองของประเทศผู้ซื้อระดับหนึ่ง ประมาณ
1.7 ล้านตัน ราคาตลาดโลกมีการพยากรณ์ว่า ช่วงนี้มีแนวโน้มดีขึ้นระยะสั้น
แต่จะลดต่ำลงมากในระยะเวลาอีกไม่กี่ปี ราคาเมล็ดแห้ง ณ ปัจจุบันประมาณ 2.2
$ หรือราว ๆ 70 บาท/กิโลกรัม
ถือว่าตลาดโลกยังพอไปได้
2. ผู้ซื้อผลผลิตในพื้นที่
มีผู้ซื้อในบางจังหวัดที่ปลูกโกโก้มานาน เช่น นครศรีธรรมราช ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์
จันทบุรี และบางจังหวัดทางภาคเหนือ การมีผู้ซื้อที่ซื้อมายาวนานนั่นคือความมั่นคงทางการตลาด
แต่ถ้ายังไม่มีการซื้อขายมาก่อนในพื้นที่ถือว่ามีความเสี่ยงสูง
3. อุตสาหกรรมโกโก้และช็อกโกแลต ในประเทศไทยยังมีโรงงานช็อกโกแลตน้อย เมื่อเทียบกับกาแฟหรือพืชอื่น ๆ การขอตั้งโรงงานใหม่ยังไม่มีชัดเจน หากโรงงานน้อยรับผลิตได้น้อย ถือเป็นความเสี่ยงสำหรับเกษตรกร
4. ความนิยมในตัวสินค้า ตลาดช็อกโกแลตยังเป็นตลาดของผู้มีรายได้ดี ชาวบ้านธรรมดายังรับประทานน้อยและเครื่องดื่มโกโก้ยังนิยมน้อยกว่ากาแฟ การสร้างกระแสความนิยมในเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจนเท่าไรนัก
5. ปริมาณการปลูกและการใช้ในประเทศไทยคาดว่าพื้นที่ปลูกจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจากกระแสในปัจจุบัน ซึ่งมียอดการสั่งจองพันธุ์นับแสนต้นที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรและอีกหลายแสนต้นของบริษัทเอกชน เนื่องจากโกโก้เป็นพืชยืนต้นที่ต้องการร่มเงา จึงน่าจะนำไปปลูกในพื้นที่ว่างเปล่าที่มีอยู่ได้ แต่ข้อดีคือปลูกร่วมกับบางพืชได้การปลูกน้อยราคาจะดี ปลูกมากราคาตกต่ำ
ด้านตลาดไทย ปัจจุบันมีทั้งการนำเข้าและส่งออก การผลิตที่น้อยกว่าการใช้จะเป็นตัวพยุงราคาให้ดี ซึ่งดีกว่าการผลิตจนมีมากและอาศัยการส่งออกเป็นลมหายใจหลัก ประเด็นนี้ยังถือว่ามีโอกาสในการเติบโต
6. อากาศ ดิน น้ำ โกโก้ปลูกได้ดีในที่ร้อนชื้นไม่หนาวมาก
ดินร่วนระบายน้ำดี หน้าดินลึก ปริมาณฝน 1,500 - 2,000 มิลลิเมตร/ปี ในประเทศไทยปลูกได้ดีในภาคใต้ ภาคตะวันออก ส่วนภาคอื่น ๆ อาจมีปัญหาอากาศหนาวและแห้งแล้งบ้าง
7. โรค แมลง ศัตรูพืช
เช่น กระรอก หนู และมีรายงานโรคระบาดสร้างความเสียหายในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยที่ยังพบน้อยเนื่องจากยังมีการปลูกน้อย
8. เงินลงทุน เวลา แรงงาน ความรู้ การจัดการสวนโกโก้ ดูแลง่าย ไม่แตกต่างจากพืชทั่วไป แต่ต้องตัดแต่งกิ่งใส่ปุ๋ย ทำร่มเงา เมื่อเริ่มปลูก ให้กำจัดวัชพืช แรงงานสามารถเข้าสวนได้ทุกอาทิตย์ มีความรู้ในการจัดการให้ได้ผลขนาดใหญ่ เมล็ดโต มีความรู้การแปรรูปเป็นเมล็ดแห้งคุณภาพดี
9. ความสามารถในการสร้างผลิตภัณฑ์จำหน่ายเองและตลาด เช่น ความสามารถในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตลอดจนไปจนถึงการผลิช็อกโกแลต ถ้าเกษตรกรหรือผู้ประกอบการในพื้นที่สามารถทำเองได้ นั่นหมายถึงโอกาสทางการระบายผลผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มมีสูงขึ้น ลดปัญหาความเสี่ยงการตลาดลง
10. ผลตอบแทน ตัวเลขจากการสัมภาษณ์ พบว่าโกโก้ให้ผลผลิตผลสดประมาณ 1,500 กิโลกรัม/ไร่ หรือประมาณ 150 กิโลกรัมเมล็ดแห้ง ราคาขายผลสดประมาณ7.5 บาท/กิโลกรัม รายได้ประมาณ 12,250 บาท/ไร่หักต้นทุน ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าน้ำ และแรงงาน ประมาณ 6,000 บาท จะเหลือรายได้สุทธิ 6,250 บาท/ไร่
ทั้งนี้ขึ้นกับความเป็นมืออาชีพของเกษตรกรด้วยรวมคะแนนประเมิน หากได้คะแนน 60 ลงมา ยังไม่ควรปลูก 60 - 69 ต้องใช้ความพยายามอย่างสูงจึงประสบความสำเร็จ 70 - 79 สามารถรักษาสภาพการผลิตไปได้และ 80 ขึ้นไป มีอนาคตสดใส
ที่มา : น.ส.พ. กสิกร วิเคราะห์ “โกโก้” อดีต ปัจจุบัน อนาคต โดย นายธัชธาวินท์ สะรุโณ นักวิชาการเกษตรเชี่ยวชาญ กรมวิชาการเกษตร