วิธีแก้ไขปัญหา ทุเรียนแตกใบอ่อน ช่วงติดผล ป้องกันผลอ่อนร่วงและทุเรียนด้อยคุณภาพ
ปัญหาการแตกใบอ่อนระหว่างผลทุเรียนกำลังเป็นผลอ่อน กลายเป็นปัญหาหนึ่งที่ชาวสวนกังวล เพราะมีผลโดยตรงต่อคุณภาพผลผลิต สาเหตุเพราะใบอ่อนมีความสามารถในการดึงอาหารสะสม ไปใช้ในการเจริญเติบโตของใบได้ดีกว่าผล ถ้าไม่มีการจัดการเพื่อควบคุมใบอ่อนในช่วงนี้ ผลผลิตจะเกิดความเสียหาย เช่น ผลร่วง ลูกบิดเบี้ยว ตลอดจนคุณภาพเนื้อเสียหาย เป็นต้น
👉ผลกระทบการแตกใบอ่อน
- การแตกของใบอ่อนในช่วง 3-5 สัปดาห์หลังดอกบาน ทำให้ความสามารถในการดึงสารประกอบคาร์โบไฮเดรตที่ได้จากการสังเคราะห์แสงได้ของผลลดลง เนื่องจากใบอ่อนมีความสามารถในการดึงอาหารที่ได้จากการสังเคราะห์แสงไปใช้ในการเจริญเติบโตได้มากกว่าผล ทำให้ผลดึงอาหารไปใช้ในการเจริญเติบโตลดลง มีผลทำให้ผลทุเรียนหลุดร่วงเหลือจำนวนผลต่อต้นน้อย ทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างอาหารที่มีในต้น (Source) และแหล่งที่นำอาหารไปใช้ (Sink) ทำให้มีลักษณะผลใหญ่เปลือกหนา เป็นเกรดตกไซส์ และจำหน่ายได้ในราคาต่ำ
- การแตกใบอ่อนในช่วง 5-8 สัปดาห์หลังดอกบาน เป็นช่วงที่ผลขึ้นพู ทำให้ผลมีรูปทรงบิดเบี้ยว
- การแตกใบอ่อนในช่วง 8-12 สัปดาห์หลังดอกบาน ทำให้เนื้อทุเรียนมีอาการแกน เต่าเผาและไส้ซึม
ผลทุเรียนรูปทรงบิดเบี้ยว (ก) ผลทุเรียนมีอาการแกน (ข) เนื้อทุเรียนเป็นเต่าเผา (ค) และทุเรียนไส้ซึม (ง) |
👉วิธีแก้ปัญหาทุเรียนแตกใบอ่อน การควบคุมการแตกใบอ่อน
1. ชะลอการแตกใบอ่อน โดยการพ่นเมพิควอทคลอไรด์ให้ทั่วต้น
2. หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูงในระยะทุเรียนออกดอกหรือติดผลอ่อน
3. ควบคุมความชื้นในดิน
ไม่ให้น้ำมากเกินความต้องการของพืช เพื่อลดโอกาส
การแตกของใบอ่อน
4.ตัดแต่งผลให้ช้า และทยอยตัดแต่ง 3
ครั้ง เพื่อถ่วงไม่ให้ใบอ่อนแตก ได้แก่
- ครั้งที่ 1 ภายใน 4 สัปดาห์หลังดอกบาน
- ครั้งที่ 2 ภายใน 6 - 8 สัปดาห์หลังดอกบาน
- ครั้งที่ 3 ภายใน 9 - 10 สัปดาห์หลังดอกบาน
👉วิธีลดผลกระทบจากการแตกใบอ่อน
- 1. หากยอดเริ่มพัฒนาออกมาเป็น “หางปลา” ทำการยับยั้งโดยการปลิดใบอ่อนด้วยโปแตสเซียมไนเตรท (13-0-46) อัตรา 150 - 300 กรัม / น้ำ 20 ลิตร ผ่านทางใบจำนวน 1-2 ครั้ง ห่างกัน 1 สัปดาห์ จนกระทั่งหางปลาหยุดพัฒนา
- 2. หากแตกใบอ่อนแล้ว มากกว่า 50% ของทั้งต้นให้พ่นสูตรน้ำตาลทางด่วน + สารเมพิควอทคลอไรด์ 1.5% สารออกฤทธิ์ ( ชื่อการค้า เช่น เฟอร์ติพลัส ,ออก้าดี) อัตรา 50 ซีซี / น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 - 10 วัน จนกว่าใบเริ่มมีสีเขียวเข้ม เพื่อชะลอการเจริญเติบโตของใบอ่อน และใบอ่อนมีอาหารอย่างเพียงพอ
👉สูตรน้ำตาลทางด่วน ประกอบด้วย
- น้ำตาลสำเร็จรูป อัตรา 20-30 ซีซี
- กรดฮิวมิค อัตรา 20-30 ซีซี
- ปุ๋ยเกล็ด สูตร 20-20-20 อัตรา 50 กรัม
- ผสมกับยากันราและสารจับใบทุกครั้ง
ที่มา : กรมวิชาการเกษตร