กรมวิชาการเกษตรรับคำขอให้ออกหนังสือรับรองกัญชาสายพันธุ์ เพชรชมพู เป็นพันธุ์พืชขึ้นทะเบียน ตามพ.ร.บ.พันธุ์พืช เผยศูนย์วิจัยยาเสพติด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำวิจัยกว่า 3 ปีได้ 5 สายพันธุ์ดี มีทั้งสายพันธุ์ที่เจริญเติบโตด้านกิ่งก้านและการสร้างใบที่ดี และให้ปริมาณสารTHC : CBD ง่ายต่อการสกัดและนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ศ.ดร.จิตรลดา อารีย์สันติชัย รองคณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยาเสพติด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมคณะ ได้เข้าพบเพื่อหารือและยื่นคำขอรับหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียน ตาม พรบ.พันธุ์พืช 2518 ซึ่ง ศูนย์วิจัยยาเสพติด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ทำการศึกษาวิจัยกัญชาสายพันธุ์ “ตะนาวศรี” อย่างต่อเนื่องเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา จนสามารถพัฒนาได้สายพันธุ์ดีตรงตามความต้องการและให้ชื่อว่า “เพชรชมพู 1-5” ซึ่งทั้ง 5 สายพันธุ์มีลักษณะดีเด่นแตกต่างกัน ตั้งแต่สายพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตด้านกิ่งก้านและการสร้างใบที่ดี สายพันธุ์ที่ให้ปริมาณสารสำคัญ THC เด่น และสายพันธุ์ที่ให้ปริมาณสาร THC : CBD อัตรา 1:1 ทำให้ง่ายต่อการสกัดและการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
ทั้งนี้ ภายหลังจากได้รับคำขอให้กรมรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนแล้วขั้นตอนต่อไปคือ สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร จะทำการตรวจสอบเอกสารและลักษณะประจำพันธุ์เบื้องต้นของพืชดังกล่าว และประชุมคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลทางวิชาการเพื่อพิจารณาออกหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียน หลังจากนั้นจะออกประกาศโฆษณาเพื่อแจ้งให้สาธารณชนทราบและเปิดโอกาสให้ทักท้วงภายในระยะเวลา 30 วัน หากไม่มีผู้ใดทักท้วงภายในระยะเวลาดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรจึงจะออกหนังสือรับรองพันธุ์เป็นพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 โดยก่อนหน้านี้ กรมวิชาการเกษตร ได้ออกหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนไปแล้วจำนวน 13 ฉบับ แบ่งเป็น พืชกัญชงจำนวน 5 สายพันธุ์ และ พืชกัญชาจำนวน 8 สายพันธุ์ และอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบข้อมูล เพื่อรอออกหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนอีก 19 สายพันธุ์ โดยเป็นกัญชง 11 สายพันธุ์ และกัญชา 8 สายพันธุ์
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การนำพันธุ์พืชมาขอขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรจะทำให้พันธุ์พืชที่ผ่านการรับรองได้รับความเชื่อมั่นและการยอมรับในคุณสมบัติของพันธุ์ ซึ่งผู้ที่ต้องการนำพันธุ์พืชมาขอรับการขึ้นทะเบียนสามารถมายื่นคำขอได้ที่สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช หรือยื่นคำขอทางไปรษณีย์ โดยจะต้องมีข้อมูลที่มาของพันธุ์พืชที่จะขอขึ้นทะเบียน ได้แก่ ชื่อพันธุ์ แหล่งที่มา ประวัติพันธุ์ วิธีการปรับปรุงพันธุ์ ลักษณะประจำพันธุ์ทางพฤกษศาสตร์ ลักษณะอื่น ๆ และรูปภาพต้น ใบ ดอก และผล เอกสารหลักฐานยืนยันตัวบุคคล
โดยหากผ่านการพิจารณาแล้วกรมวิชาการเกษตรจะบันทึกในฐานข้อมูลและออกหนังสือรับรองเป็นพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนพันธุ์ให้ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้พัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืช และเป็นฐานข้อมูลพันธุ์พืชของประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร จึงขอเชิญชวนให้ประชาชน และนักปรับปรุงพันธุ์ที่มีพืชพันธุ์ใหม่มาขอยื่นขึ้นทะเบียนพันธุ์ ตาม พรบ.พันธุ์พืช 2518 ซึ่งใช้ระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวไม่เกิน 60 วันทำการ