Durain

[ทุเรียนเงินล้าน][bsummary]

Date Palm

[อินทผลัม][twocolumns]

Cactus

[แคคตัส][bleft]

Adenium

[ชวนชม][bsummary]

Garden

[จัดสวน][bsummary]

เที่ยวสวน “ไม้กินแมลง” เชิงท่องเที่ยวและอนุรักษ์ ที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

สวัสดีแฟนเพจต้นไม้และสวนออนไลน์ทุกท่าน ไม่รู้เหมือนกันว่ามีลูกเพจของเราคนไหนเป็นแฟนคลับตัวยงคนรักไม้กินแมลงหรือเปล่า แต่ว่า Admin เริ่มเห็นกระแสความนิยมในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มากขึ้นและที่สำคัญพลพรรคคนรักต้นไม้และสวนของเราก็มีสวนไม้กินแมลงที่ปลูกเลี้ยงเชิงสะสมและอนุรักษ์ พร้อมกับเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมทั้งในรูปแบบทัวร์ขนาดเล็กหรือจะมีการแคมปิ้งก็ได้ทั้งนั้น ทำให้ Admin รู้สึกว่า...นี่ล่ะสวรรค์ของคนชอบธรรมชาติจริง
อ้าว..เล่าไปก็เพลินไปด้วยความที่ Admin เคยไปที่ สวนเล็กออร์คิด แห่งนี้มาแล้วก็เลยสาธยายได้เป็นฉากๆ กันเลยทีเดียว..หุ..หุ

เรามาพูดคุยเรื่องไม้กินแมลงกันต่อค่ะ เจ้าของสวนเล็กออร์คิด มีชื่อว่า ณรงค์ ครองชนม์ หรือ พี่เล็ก หนุ่มใต้ใจดี ที่รักการปลูกเลี้ยงต้นไม้ทุกชนิด โดยเฉพาะกล้วยไม้พื้นเมืองและพันธุ์ไม้กินแมลง อย่าง หม้อข้าวหม้อแกงลิงสายพันธุ์พื้นเมืองนี่ล่ะ

จากนั้นก็เริ่มเก็บสะสมสายพันธุ์ต่างประเทศและพัฒนาสายพันธุ์ไม้ลูกผสม (Hybrid) จนได้ไม้สวยๆ ต้องตาต้องใจนักเล่นต่างชาติ จนตอนนี้ต่างประเทศต้องหันมาสะสมไม้ไทยและลูกผสมในเมืองไทย เพราะถ้าอยู่ในวงการจริงแล้วไม่มีลูกไม้จากเมืองไทยนี่คุยกับพรรคพวกไม่รู้เรื่องกันเลยทีเดียว 
สวนอยู่ในป่าท่ามกลางหุบเขาเล็กๆ ใน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา 
ชาวต่างชาติมาเยี่ยมชมสวนไม้กินแมลง
สาเหตุที่ Admin จงใจนำเสนอเรื่องราวของ ณรงค์ ครองชนม์ ก็เพราะว่าเขาคือหนึ่งในบุคคลที่ประสบความสำเร็จเรื่องการผลิตและปลูกเลี้ยงพืชกินแมลงในรูปแบบการค้า การท่องเที่ยว และการอนุรักษ์ ทำให้สวนนี้มีความโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งก็ว่าได้


ด้วยสภาพพื้นที่สวนอยู่ในป่าท่ามกลางหุบเขาเล็กๆ ในจังหวัดพังงา ถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์อันเยี่ยมยอดในเรื่องของพื้นที่เพาะเลี้ยง ขยายพันธุ์ และพัฒนาสายพันธุ์ เนื่องจากมีอากาศเย็นสบายเกือบตลอดทั้งปี มีธารน้ำธรรมชาติล้อมรอบถึง 2 ใน 3 ของพื้นที่ แม้ว่าจะเป็นหุบเขาแต่ก็มีลมเอื่อยๆ พัดเย็นสบายจนบริเวณที่เป็นแปลงเพาะเลี้ยงไม่ต้องทำโรงเรือน ไม่ต้องขึงซาแรนกันเลยทีเดียว

อันที่จริงมองๆ ดูแล้ว สวนเล็กออร์คิด อาจจะดูไม่เหมือนสวนหรือฟาร์มสักเท่าไหร่ แต่ว่าดูเหมือนสถานที่ท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์มากกว่า เพราะพื้นที่สวนถูกจัดให้สอดคล้องกับธรรมชาติ มีการนำพืชกินแมลงทั้ง หม้อข้าวหม้อแกงลิง ซาราซีเนีย หยาดน้ำค้าง ไปปลูกลงดินตามธรรมชาติแทนที่จะประคบประหงมอยู่ในกระถาง ขนาดที่อยู่ในกระถางยังไม่มีโรงเรือนไม่มีซาแรนไม้ ส่วนหนึ่งได้อยู่แบบธรรมชาติจริงๆ เพราะเวลาเรานำมาเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชจะใช้กาบมะพร้าวสับเป็นวัสดุปลูก เพื่อความสะดวกในการขนย้ายและถือว่าเป็นวัสดุปลูกที่หาง่ายและราคาไม่แพง

สภาพอากาศกลางหุบเขา อากาศเย็นกลุ่มไม้กินแมลงอาศัยอยู่ได้ตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องใช้หลังคาซาแรนพรางแสง
หม้อข้าวหม้อแกงลิง ปลูกตามธรรมชาติ
อีกอย่างหนึ่งคือบรรดาคนรักไม้กินแมลงทั้งหลายไม่ค่อยได้เห็นต้นที่อยู่ในธรรมชาติมากนัก ส่วนต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่อยู่ในธรรมชาติมักจะกลายเป็นวัชพืชสำหรับชาวสวนที่ต้องกำจัดเนื่องจากคนในพื้นที่ไม่เห็นคุณค่าและการสร้างรายได้จากไม้ชนิดนี้

ดังนั้นการรวบรวมหม้อข้าวหม้อแกงลิงสายพันธุ์พื้นเมือง ไม้ลูกผสม และไม้นำเข้า มาปลูกในสวนของพี่เล็กจึงเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไม้พื้นเมืองพร้อมๆ กับการจัดแสดงไม้หายากจากต่างถิ่นด้วย

สำหรับวันนี้ Admin ขออนุญาตนำเสนอเรื่องราวของ ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง ให้แฟนๆ ได้รู้จักกันก่อนเนื่องจากว่าค่อนข้างเลี้ยงง่ายเลยทีเดียว

🌿 หม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nepenthes) จัดอยู่ในวงศ์ Nepenthaceae สกุล Nepenthes เป็นไม้เลื้อยต้นแยกเพศ ว่าง่ายๆ ก็ต้นตัวผู้และต้นตัวเมียเป็นคนละต้นกันนั่นแหล่ะ

ลักษณะเด่นของไม้กินแมลงชนิดนี้ก็คือบริเวณปลายใบถูกพัฒนาการให้มีลักษณะคล้ายหม้อเพื่อใช้จับแมลง หม้อนี้มักมีสีสันสวยงามฉูดฉาด มีน้ำหวานหลอกล่อแมลงให้ตกลงไปในหม้อที่มีน้ำย่อยอยู่ภายใน เมื่อเจ้าแมลงตกลงไปในนั้นก็จะกลายเป็นอาหารอันโอชะของหม้อข้าวหม้อแกงลิงทันที

นักวิทยาศาสตร์อธิบายถึงสาเหตุที่พืชต้องกินแมลงออกเป็น 2  สาเหตุ ได้แก่

1. เนื่องจากระบบรากของพืชกินแมลงไม่มีประสิทธิภาพในการดูดซึมสารอาหารได้เหมือนพืชชนิดอื่นๆ จึงต้องเปลี่ยนปลายใบให้กลายเป็นที่ดักจับแมลงเป็นอาหาร


2. หม้อข้าวหม้อแกงลิงอาจมีความต้องการสารอาหารจำพวกไนโตรเจน (N) มากกว่าพืชชนิดอื่นๆ จึงต้องหาแหล่งอาหารเพิ่มเติมด้วยการพัฒนาปลายใบให้เกิดเป็นหม้อเพื่อดักจับและมีน้ำย่อยสำหรับย่อยแมลงนั่นเอง

ที่มาของข้อสันนิษฐานเหล่านี้ คือ มีการสังเกตว่าพืชพรรณชนิดอื่นๆ สามารถเจริญเติบโตได้เป็นปกติในขณะที่หม้อข้าวหม้อแกงลิงต้องปรับตัวมากมายเพื่อความอยู่รอดนั่นเอง  
โดยปกติแล้วหม้อข้าวหม้อแกงลิงจะสร้างหม้อออกมา 2 รูปแบบนั่นคือ หม้อล่าง (Lower) และ หม้อบน (Upper) ที่มีลักษณะแตกต่างกันรวมถึงมีหน้าที่และดึงดูดเหยื่อต่างชนิดกันด้วย เช่น N. rafflesiana เป็นต้น หม้อที่ต่างชนิดกัน ก็จะดึงดูดเหยื่อที่ต่างชนิดกันด้วย

หม้อล่าง (Lower) จะหันหน้าหรือด้านที่ฝาหม้อเปิดเข้าหาก้าน หม้อประเภทนี้มักมีสีนสันสดใสสวยงาม มีกลไกลการทำงาน คือ หม้อล่างทำหน้าที่ล่อเหยื่อและดูดซึมสารอาหารไปใช้ในการเจริญเติบโต

หม้อบน (Upper) จะหันด้านหน้าหรือด้านที่ฝาหม้อเปิดออกจากก้าน มักมีสีสันจืดชืดกว่า ส่วนกลไกลในการทำงาน  เมื่อต้นโตขึ้น สูงขึ้น หม้อบนจะลดบทบาทการหาเหยื่อ แต่เพิ่มบทบาทการจับยึดโดยก้านใบจะม้วนเป็นวง เกาะเกี่ยวกิ่งไม้ข้างๆ ดึงเถาหม้อข้าวหม้อแกงลิงให้สูงขึ้นและมั่นคงขึ้นไม่โค่นล้มโดยง่าย

ฝักหม้อข้าวหม้อแกงลิง
การขยายพันธุ์หม้อข้าวหม้อแกงลิง ทำได้ทั้ง เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำ เพาะเมล็ด ทำได้ทุกอย่างเหมือนต้นไม้ทั่วไป ขึ้นอยู่กับว่าจะสะดวกและถนัดวิธีไหนเลือกได้ตามใจ

ในส่วนของการปลูกเลี้ยงดูแลหม้อข้าวหม้อแกงลิงและพันธุไม้กินแมลงชนิดอื่นๆในสวนเล็กออร์คิด แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็น แปลงเพาะ (Nursery) และส่วนที่ปลูกประดับเพื่อการเรียนรู้

อย่างที่บอกในข้างต้นว่าไม้ที่อยู่ในกระถาง เป็นชุดที่ทางสวนพร้อมจำหน่าย หรือเพิ่งจะย้ายจากกระบะเพาะเมล็ดขึ้นสู่กระถางเพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการนั่นเอง

อีกส่วนหนึ่งไม้กินแมลงเกือบทุกสายพันธุ์ของที่นี่จะมีการนำไปปลูกในสภาพแวดล้อมธรรมชาติในสวน เนื่องจากเจ้าของมีความคิดว่าการได้ปลูกเลี้ยงต้นไม้ลงดินแบบธรรมชาติจะทำให้ผู้ปลูกเลี้ยงได้เห็นสภาพความเป็นจริงไม่ใช่สภาพแวดล้อมจำลองที่ปลูกในกระถางใช้กาบมะพร้าวเป็นวัสดุปลูกและให้ปุ๋ยตามระยะเวลาที่กำหนด 

แต่การปลูกเลี้ยงต้นไม้แบบเล็กออร์คิดนั้นทำให้ได้อรรถรสในการชื่นชมความงามมากกว่าหลายเท่าตัวแถมยังดูแลง่ายกว่าการปลูกในกระถางเสียอีก 
ซาราซีเนีย
เมล็ดหม้อข้าวหม้อแกงลิง
ที่สำคัญการปลูกไม้กินแมลงและหม้อข้าวหม้อแกงลิงในบริเวณสวนกลายเป็นจุดเด่นของเล็กออร์คิด เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ชาวต่างชาติสนใจเป็นพิเศษ แต่คนไทยกลับรู้จักสถานที่นี้น้อยมาก อาจเป็นเพราะยังไม่ได้รับการประชาสัมพันธ์เพียงพอหรือหม้อข้าวหม้อแกงลิงอาจถูกมองว่าเป็นไม้เลี้ยงยาก 

แต่ในความเป็นจริงแล้วเลี้ยงไม่ยากเลย แค่น้ำถึง แดดถึง ส่วนเรื่องปุ๋ยเราให้พอประมาณอาจใช้ปุ๋ยเม็ดละลายช้า 3 เดือน/ครั้ง ก็สามารถเลี้ยงให้เกิดหม้อสวยๆ ได้แล้ว เพราะอย่าลืมว่าไม้กินแมลงเขาจับแมลงและสัตว์ต่างๆ กินได้เลยนะจ๊ะ 
ซาราซีเนียปลูกตามธรรมชาติ
 อ่านบทความนี้แล้วแฟนเพจท่านใดอยากลองเลี้ยงหม้อข้าวหม้อแกงลิงดูบ้างสามารถหามาทดลองเลี้ยงได้ เพราะตอนนี้ราคาย่อมเยาน่าซื้อหา ต้นเล็กราคาเริ่มตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป หาซื้อได้ที่ร้านไม้ดอกไม้ประดับหรือร้านขายไม้กินแมลงโดยเฉพาะ หรือสอบถามได้ที่ พี่เล็ก สวนเล็กออร์คิด ได้เลยค่ะ

ขอขอบคุณ
ณรงค์ ครองชนม์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100009785795380