Durain

[ทุเรียนเงินล้าน][bsummary]

Date Palm

[อินทผลัม][twocolumns]

Cactus

[แคคตัส][bleft]

Adenium

[ชวนชม][bsummary]

Garden

[จัดสวน][bsummary]

ครูหมึก เซียนบอนไซ เมืองเพชร เด่นด้วย บอนไซเทียนทะเล ต่อซาก

ถ้า “บอนไซ” ถูกเปรียบเปรยว่าเป็น “ศิลปะมีชีวิต”
คนทำบอนไซก็คงเป็น ศิลปิน ผู้สร้างสรรค์ศิลปะนั้น

ว่ากันว่าคนทำบอนไซต้องเรียนรู้ศาสตร์ 2 แขนง คือ ศาสตร์ด้านการปลูกเลี้ยงต้นไม้แต่ละชนิดแต่ละพันธุ์อย่างถ่องแท้ และศาสตร์ด้านศิลปะ ในการย่อส่วนมาไว้ในกระถาง โดยยังคงความสง่ามาก ตามแบบธรรมชาติของต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นศิลปะชั้นสูงที่ต้องอาศัยเวลาและประสบการณ์ เพราะบอนไซบางต้นใช้เวลาสร้างเป็นสิบปี

ครูหมึก คือศิลปินผู้สร้างบอนไซชื่อดังของเมืองไทย จากประสบการณ์กว่า 40 ปี และฝีไม้ลายมือในการสร้างบอนไซที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะการทำ “ไม้ซาก” ซึ่งทำได้ยากมาก เขาจึงได้รับยกย่องให้เป็นสุดยอดเซียนบอนไซของเมืองไทย

ต้นไม้และสวนจะพาไปทำความรู้จักครูหมึก พร้อมกับศึกษาพื้นฐานการทำบอนไซเบื้องต้น
 จากครูสอนหนังสือ ขุดตอไม้ได้อาชีพเสริม

ครูหมึกเล่าย้อนว่า เดิมทีเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี วันหนึ่งพานักเรียนเข้าป่าเพื่อขุดต้นมะสัง เพื่อนำมาปลูกประดับในโรงเรียน และที่บ้าน เพราะรูปทรงสวยดี โดยไม่คิดว่าจะนำมาทำเป็นบอนไซแต่อย่างใด 

แต่หลังจากนั้นบอนไซได้รับความนิยมใน จ.ราชบุรี มีคนเสาะหาตอจากป่าและจากชาวบ้าน ตอที่ครูหมึกปลูกไว้มีคนมาขอซื้อ พอเห็นว่าขายได้ก็เสาะหาขุดขายเรื่อยมา และนับจากนั้นก็ยึดเป็นอาชีพเสริม พร้อมๆ กับศึกษาบอนไซไปด้วย  

ตอนนั้นเข้าใจว่าบอนไซคือไม้ใหญ่ที่ย่อขนาดลงมาให้เล็ก ผมมีต้นแบบเป็นต้นจามจุรี ยืนดูต้นจามจุรี ก็ตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้รูปทรงต้นไม้เหมือนทรงจามจุรี โดยศึกษาการเจริญเติบโต ลักษณะการแตกกิ่งก้านสาขา อาจารย์ของผมก็คือต้นจามจุรี

สั่งสมประสบการณ์ จนกลายเป็น มือบอนไซ ทำไม้เงินล้าน

ไม้ตอที่ขุดมาจากป่า หลังจากนั้นนำมาทำโครงสร้างพื้นฐานก็ขายได้แล้ว ศูนย์รวมของบอนไซสมัยนั้นอยู่ในกรุงเทพ บริเวณโรงแรมรอยัล ริมคลองหลอด คนที่มีตอไม้บอนไซจะนำมาวางขายทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ครูหมึกเป็นหนึ่งในนั้น มีรายได้ครั้งละ 3-4 หมื่นบาท จนไม้ที่เสาะหามาทำบอนไซขายหมดอย่างรวดเร็ว จนไม่มีไม้ขาย

แต่ผมก็มาที่นี่ทุกอาทิตย์มีแค่ลวดกับกรรไกรตัดกิ่งเท่านั้น แล้วหาซื้อไม้มาตัดแต่งทรงต้นให้เป็นบอนไซขาย มีรายได้หลายหมื่นบาท

ฝีมือการตัดแต่งบอนไซของครูหมึกกลายเป็นที่รู้จัก มีผู้นิยมบอนไซเรียกตัวเข้าไปทำไม้ตัดแต่งบอนไซ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้ราคาเรือนหมื่นเรือนแสน ไม่กลุ่มนี้ต้องคนมีฝีมือทำเท่านั้น
 รากฐานบอนไซ ต้องเลี้ยงต้นไม้ให้เป็นก่อน

ครูหมึกบอกว่า พื้นฐานบอนไซ ที่จำเป็นต้องมีติดตัวเป็นอย่างแรก คือ เลี้ยงต้นไม้ให้เป็นก่อน นี่เป็นเรื่องใหญ่

เวลาขุดตอไม้เราจะมาปลูกอย่างไร เพราะรากมันถูกตัด หาอาหารไม่ได้ ทุกอย่างหยุดชะงักหมด แต่ใบหยุดไม่ได้ เพราะใบมีหน้าที่ปรุงอาหารและคายน้ำ น้ำที่สะสมอยู่ในต้นก็เริ่มจะหมดไป ต้นไม้ต้นนั้นอาจจะไม่มีชีวิตรอด หรือรอดก็จะไม่แข็งแรง ดังนั้นเมื่อขุดต้นไม้มาต้องตัดใบทิ้งไม่ให้คายน้ำ แต่ควรเหลือใบไว้บ้าง เพื่อให้หาอาหารเลี้ยงลำต้นบ้างสัก 5% ต้นไม้ก็จะค่อยๆ แตกรากออกมาดูดอาหารหล่อเลี้ยงลำต้น

ข้อสำคัญคือ ดินที่ใช้ปลูกบอนไซต้องระบายน้ำได้ดี ถ้าระบายน้ำไม่ดีแผลที่เกิดจากการตัดรากจะมีโอกาสเน่า ดินปลูกบอนไซจึงต้องโปร่ง ระบายน้ำได้ดี

นอกจากนั้นยังต้องศึกษาสายพันธุ์ต้นไม้ที่นำมาทำบอนไซด้วยว่า ธรรมชาติเป็นอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร ซึ่งต้นไม้แต่ละพันธุ์มีความเหมือนและแตกต่างกันอยู่พอสมควร

โครงสร้าง คือพื้นฐานของบอนไซ

เมื่อเลี้ยงต้นไม้เป็นแล้ว ต่อมาก็คือ หาพื้นฐานของต้นไม้ โดยเริ่มต้นจากฐานของราก ไม้บอนไซที่ดีต้องมีฐานใหญ่ จากโคนลำต้นจนถึงยอดต้องไล่จากใหญ่ไปหาเล็ก แต่ถ้าลำต้นเท่ากันต้องตัดเพื่อสร้างยอดใหม่ หรือที่เรียกว่า “ตัดหัวเขียง” พอตัดยอดต้องมีการสร้างกิ่งที่หนึ่งสองสาม ลดหลั่นกันไป แต่ละกิ่งต้องไม่อยู่ในระดับเดียวกัน

ถ้ากิ่งอยู่ในระดับเดียวกันจะทำให้ลำต้นบริเวณนั้นอ้วนกว่าโคน เพราะกิ่งสองกิ่งมันชนกัน

ดังนั้นต้นไม้ที่มีพื้นฐานบอนไซดีโดยธรรมชาติเป็นทุนอยู่แล้ว จะทำบอนไซได้จบเร็วและสวย ส่วนต้นที่ไม่มีพื้นฐาน ก็ต้องนำมาตัดแต่งสร้างกิ่งใหม่ให้เป็นลักษณะของบอนไซ ต้องใช้เวลานาน

กว่าจะทำบอนไซจบ อย่างน้อยต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี แต่ถ้าเป็นพวกไม้ซาก ซึ่งเป็นงานถนัดของครูหมึกการทำเหมือนเป็นหมอต้นไม้ ที่มารักษาและผ่าตัดต้นไม้ให้เป็นบอนไซ จากต้นไม้ที่ใช้ไม่ได้ทำอย่างไรให้บอนไซดูสวย ซึ่งไม่ใช้เรื่องง่ายหรือยาก แต่เป็นเรื่องอารมณ์ของไม้ว่าเป็นอย่างไร และทำตามทรงของต้นไม้นั้น
ต้นไม้ไทย เหมาะสำหรับทำบอนไซ

ต้นไม้ไทยที่เหมาะสำหรับทำบอนไซมากที่สุด ครูหมึกแนะนำ หมากเล็กหมากน้อยเป็นต้นไม้ที่ดูแลง่าย เลี้ยงง่าย ผิวดี ทนทาน

แต่ไม่ใช่เรื่องของการเลี้ยงง่ายหรือยากขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงว่าเข้าใจพันธุ์ไม้นั้นหรือไม่ ถ้าเข้าใจไม่มีอะไรยาก แต่ถ้าไม่เข้าใจทำอย่างไรก็ยาก ผมทำไม้มา 40 ปี ทำต้นไม้ตายเป็นคันรถสิบล้อ ก็มาจากความไม่เข้าใจ แม้กระทั่งเวลาขุดไม้ในป่าต้องดูดิน ไม้โครงสร้างดีไม่ดีดูจากดิน ถ้าเห็นเป็นดินลูกรังผมจะไม่เข้าไปขุดเลย เพราะต้นไม้ที่ขึ้นบนดินลูกรังจะหาอาหารบนดินไม่ได้ รากจึงดิ่งลงพื้นใต้ดิน พื้นฐานไม้ก็ไม่มี แต่ถ้าดินดำรากจะเดินบนผิวดินจะเข้าไปขุดทันที

ต้นไม้ไทยอีกตัวที่ครูหมึกชอบนำมาทำบอนไซ คือ เทียนทะเล เพราะนอกจากองค์ประกอบพื้นฐานที่เหมาะสมแล้ว ด้วยความที่มันเป็นต้นไม้ที่อยู่ตามเกาะแก่งตามชายทะเล มันยังทนทาน ผิวพรรณแลดูเก่า รูปทรงหลากหลายทั้งไม้กอ และเป็นลำต้นเดี่ยว เหมาะอย่างยิ่งที่จะนำมาทำบอนไซสไตล์ไม้ซาก

อีกทั้งยังสามารถทำรูปทรงได้อย่างหลากหลาย ตามธรรมชาติของไม้ และจินตนาการของผู้ทำ ซึ่งบอนไซแนวนี้ยังมีความเป็นสากล นักเล่นบอนไซทั่วโลกนิยม

ปัจจุบันบอนไซเทียนทะเล จึงเป็นไม้ตัวหลักของ ครูหมึก

ขอขอบคุณ
ครูหมึก 08-1942-6469