Durain

[ทุเรียนเงินล้าน][bsummary]

Date Palm

[อินทผลัม][twocolumns]

Cactus

[แคคตัส][bleft]

Adenium

[ชวนชม][bsummary]

Garden

[จัดสวน][bsummary]

ทางลัด สำหรับนักเลี้ยงแคคตัสมือใหม่ จาก เป้ หนามแดง


ไม่ใช่เพียงความหลากหลายของหนามและรูปทรงแคคตัส หรือกระบองเพชรเท่านั้นที่ทำให้คนหลงรัก แต่ดอกยังเป็นเสน่ห์อีกด้านหนึ่งที่ทำให้ไม้ตัวนี้ดูโดดเด่น และครบเครื่อง

แต่สำหรับนักเล่นมือใหม่แบบถอดด้าม จะเลี้ยงแคคตัสอย่างไรให้สมบูรณ์และออกดอก...???

ถ้ายังไม่มีคำตอบและวิธีการ ทีมงานต้นไม้และสวนออนไลน์ ขออาสาไปเจาะข้อมูลการเลี้ยงแคคตัสให้สมบูรณ์และออกดอกจากนักเลี้ยงมากประสบการณ์จาก จ.สมุทรปราการ มานำเสนอเป็นแนวทาง
และนักเลี้ยงคนนั้นก็คือ คุณบริรักษ์ สาระโกเศศ  หรือ เป้ หนามแดง 
นักเล่นกระบอกเพชรรายนี้ เริ่มสนใจและเก็บสะสมแคคตัสมานานกว่า 20 ปี โดยอาศัยตลาดนัดสวนจตุจักรเป็นแหล่งช็อป และเป็นห้องเรียนไปพร้อมๆ กัน 

“ผมชอบเลี้ยงต้นไม้มาก่อนก็มักจะไปเดินซื้อจากตลาดจตุจักร กระบองเพชรก็เป็นตัวหนึ่งที่ผมเลี้ยง แต่วันหนึ่งไปเห็นดอกมันแล้วสวยดี จึงรู้สึกชอบ จึงถามแม่ค้าว่าเป็นพันธุ์อะไร เลี้ยงอย่างไร หลังจากนั้นก็สนใจและเลี้ยงเป็นตัวหลักมาโดยตลอด”

เป้ หนามแดง บอกว่าสมัยนั้นการจะศึกษาเรื่องสายพันธุ์และการปลูกเลี้ยงไม่ได้ง่ายแค่ปลายนิ้วมือเหมือนสมัยนี้ ต้องอาศัยซอกแซกถามจากเจ้าของร้าน อย่างพันธุ์นี้ชื่ออะไร ลักษณะเป็นอย่างไร เลี้ยงอย่างไร รดน้ำอย่างไร ประสบการณ์ การลงมือเลี้ยงและศึกษาอย่างจริงจังเท่านั้นที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ และนั่นก็เป็นรากฐานของการเลี้ยงแคคตัส ไม่ว่านักเล่นมือใหม่ยุคสมัยไหนก็จำเป็นต้องมีติดตัว

“เมื่อเราคิดว่าชอบแคคตัสและคิดจะเลี้ยงมัน สิ่งสำคัญเราต้องศึกษาสายพันธุ์ และถิ่นกำเนิด เพราะข้อมูลเหล่านี้จะเป็นฐานข้อมูลว่าจะเลี้ยงมันอย่างไร ไม้แต่ละตัวมีแหล่งกำเนิดต่างกัน การดูแลไม่เหมือนกัน สถานที่เลี้ยงแต่ละแห่งก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการรดน้ำก็ต้องไม่เหมือนกัน” 
จากประสบการณ์ขายแคคตัสมานานของ เป้ หนามแดง เขาจะถามคนซื้อ หรือนักเล่นหน้าใหม่ก่อนเสมอว่า ซื้อแล้วนำไปตั้งไว้ที่ไหน คำตอบส่วนใหญ่ร้อยละ 70-80% จะนำไปวางไว้ในห้องน้ำ แม้จะวางได้แต่แคคตัสต้องการแดด ถ้าวางในห้องน้ำต้นจะยืด และเสียทรง

อีกเรื่องหนึ่งคือ การรดน้ำ นักเล่นมือใหม่มักจะเป็นโรคเดียวกันคือ กลัวการรดน้ำมากเกินไป เพราะข้อมูลที่ฝังหัวว่า แคคตัส อย่ารดน้ำมาก เดี๋ยวจะเน่า จึงนิยมให้กระบอกฟ็อกกี่ใส่น้ำแล้วฉีด แค่ฉีดให้ต้นเปียกและหน้าดินเปียกก็พอ เพราะกลัวมันตาย แต่ผลสุดท้ายก็มักจะตายจริงๆ

เพื่อปรับทัศนคติและพฤติกรรมการปลูกเลี้ยงแคคตัสที่ถูกต้อง เรามาเรียนรู้การปลูกเลี้ยงแคคตัสจากเป้ หนามแดงกันดีกว่า
ยิมโน ด่างสี (Gymnocalycium)
ดินสำหรับแคคตัส
ด้วยพื้นฐานของแคคตัสเป็นไม้อวบน้ำ ทนแล้ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ต้องการน้ำ เพียงแต่วัสดุปลูก หรือดินปลูกต้องมีคุณสมบัติระบายน้ำได้ดีเยี่ยม พร้อมๆ กับกักเก็บน้ำได้พอประมาณ

“ดินปลูกแคคตัสแต่ละรังแต่ละที่ไม่เหมือนกัน อยากให้นักเล่นหน้าใหม่ลอง และค่อยๆ เรียนรู้ ว่าดินแต่ละสวนเป็นอย่างไร ก่อนที่ผมจะทำสูตรดินของตัวเอง ผมก็ต้องไปหาซื้อดินแต่ละสวนมา ดูว่าเป็นอย่างไร ปลูกเลี้ยงเป็นอย่างไร แบบไหนดี หรือไม่ดี จากนั้นก็ลองคิดค้นสูตรผสมดินของตัวเองขึ้นมา จนได้สูตรที่ปลูกแคคตัสได้ดี แล้วดินสูตรผมจะขายสูงกว่าดินทั่วไปแต่นำไปปลูกเลี้ยงรากเดินดี ไม้งาม”

คุณเป้ ไม่ปิดบังสูตรดินของเขาเลย เขาบอกว่า สูตรดินปลูกแคคตัสที่ใช้ไม่มีเนื้อดินเลย แต่จะใช้ส่วนผสมใบก้ามปูป่นแทนดิน ทำไมจึงต้องใช้ใบก้ามปูป่น??? เพราะในตัวใบก้ามปูเมื่อนำไปปลูกมันจะค่อยๆ ย่อยเป็น “ฮิวมัส” ซึ่งก็คือดินนั่นเอง

“เราซื้อดินใบก้ามปูมาก็ล่อนนำเนื้อดินออกให้เหลือแต่ใบ ซึ่งจะเป็นเหมือนใบไม้ผุ จากนั้นขยำๆ ให้ป่น”

วัสดุตัวที่สองคือ หินภูเขาไฟเบอร์ 00 นำไปผสมกับใบก้ามปูป่น วัสดุอีกตัวที่คุณเป้ผสมลงไปคือ คือ “หินแร่ธาตุภูเขาไฟ” เขาบอกว่าไม่มีขายในท้องตลาด

“เมื่อก่อนเขาจะสกัดมาเพื่อใช้เลี้ยงปลาคาร์ฟ เพื่อช่วยเร่งสี เมื่อนำมาผสมกับดินปลูกจะช่วยเร่งสีของต้นไม้ คุณสมบัติจึงดีกว่าหินภูเขาไฟ ตัวนี้ผมสั่งมาจากต่างประเทศ”
ดินปลูกชวนชมสูตร เป้ หนามแดง
นี่คือส่วนผสมของดินที่เขาใช้ปลูกแคคตัสในสวน แต่เวลานำไปปลูกจริงก็จะนำไปผสมกับวัสดุอื่นๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับพันธุ์และขนาดต้น

“สมมุติเราจะปลูกพวก อริโอคาร์ปัส (Ariocarpus) ไม้กลุ่มนี้ต้องการดินโปร่ง เราก็ต้องทำให้ดินโปร่งเป็นพิเศษ โดยนำดินสูตรของเรา เพิ่มส่วนผสมหินภูเขาไปเข้าไปเพื่อให้ดินโปร่ง คุณสมบัติของดิน เน้นโปร่ง ยิ่งไม้ไซส์ใหญ่ที่ปลูกในกระถาง 7 นิ้วขึ้นไปยิ่งใช้ดินน้อย แต่ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าต้องใช้ดินเยอะ แต่ผมใช้หินภูเขาไฟประมาณ 70% เริ่มจากรองก้นกระถางด้วยเบอร์ 02 ไล่ขนาดมาเบอร์ 01 แล้วจึงใส้ดินผสมลงไป จึงจะมีความโปร่ง ระบายน้ำได้ดี” 
Astrophytum ต้นขนาดใหญ่
ยิมโน ด่างสี (Gymnocalycium)
ปุ๋ยสำหรับแคคตัส
ธาตุอาหาร สหรับแคคตัสไม่ได้มาจากดินผสมเป็นตัวหลัก แต่มาจากปุ๋ยที่เราใส่เพิ่มให้ไป ปุ๋ยที่คุณเป้ ใช้กับแคคตัส คือ ปุ๋ยชนิดเกล็ดละลายน้ำ โดยจะให้พร้อมกับตอนให้น้ำ

“ผมไม่ใช้ปุ๋ยที่ขายในประเทศ จะใช้ปุ๋ยจากอเมริกา กก.ละ สองพันกว่าบาท เพราะจากประสบการณ์ดูแล้วว่าคุณภาพและประสิทธิภาพไม่เท่ากับต่างประเทศ โดยปุ๋ยที่ใช้จะมีส่วนผสมที่แตกต่างกันในแต่ละฤดู เร่งราก เร่งการแตกยอด เร่งดอก ปุ๋ยต้องมีสูตรแตกต่างกัน

“แต่แนะนำว่าถ้าเลี้ยงทั่วๆ ไป ปุ๋ยบ้านเราก็ใช้ได้ ผมให้ถือหลักการให้ปุ๋ยต้องให้สูตรบำรุงต้นสลับกับสูตรบำรุงดอก เริ่มจากอาทิตย์นี้ให้ปุ๋ยเร่งต้น สูตรเสมอ อาทิตย์หน้าเร่งดอก สูตร 8-24-24 ผสมน้ำและรด แต่บางคนเล่นอัดปุ๋ยดอกอย่างเดียวต้นจะเหี่ยวซูบ ต้องให้สลับกันไปอย่างนี้ เมื่อต้นสมบูรณ์เร่งปุ๋ยดอกต่อเนื่องก็จะได้ต้นไม้ที่สวยงามตามที่อยากเห็น”

แต่ถ้าต้นไหนเน้นเป็นพิเศษคุณเป้จะใช้วิธีตักปุ๋ยรดแต่ละต้น เพราะถ้าใช้วิธีฉีด แคคตัสจะรับปุ๋ยได้แค่ใบ ไม่ลงมาถึงดินถึงราก แต่ถ้าตัดรดปุ๋ยจะได้ทั้ง ดิน ใบ ราก 
Mammillaria พันธุ์ขนนก และขนแมว
การรดน้ำ สำหรับแคคตัส
เมื่อพูดถึงการรดน้ำ คุณเป้ บอกว่า มักจะเจอพฤติกรรมเหมือนๆ กัน คือความเข้าใจผิดของนักเลี้ยงมือใหม่ มักจะใช้ฟ็อกกี้ฉีด เมื่อเห็นต้นเปียก หน้าดินเปียก ก็พอแล้ว เพราะกลัวว่ารดเยอะกว่านี้จะเน่า

“นี่เป็นความเข้าใจที่ผิด การรดน้ำต้องรดให้ชุ่มจนเห็นว่าน้ำไหลออกจากก้นกระถาง นี่คือรดให้ชุ่ม แต่ฉีดฟ็อกกี้น้ำลงมาไม่ถึงราก ซึ่งเป็นตัวดูดน้ำไปเลี้ยงลำต้น เมื่อน้ำไปไม่ถึงรากต้นก็จะเหี่ยว ไม่สมบูรณ์ แต่ถ้ารดชุ่มแล้วเราไม่ต้องรดบ่อย 3-4 วันครั้ง แต่เน้นดินโปร่ง ระบายน้ำดี จะไม่มีปัญหาเรื่องเน่าแน่นอน” 

“เวลาขายผมจะถามก่อนว่าจะนำไปตั้งที่ไหน และมีพฤติกรรมรดน้ำอย่างไร เพราะปัญหาก็คือ คนที่เคยซื้อไปเลี้ยงแล้วตาย จะมองภาพว่ามันเป็นไม้เลี้ยงยาก ตายง่าย พอเวลาลูกค้ามาเดินดูจะมีคนพูดอย่างนี้เยอะพอสมควร มันเลี้ยงยาก ซื้อไปเดี๋ยวก็ตาย อย่างนี้ต้องเรียกมาทำความเข้าใจว่า รดน้ำอย่างไร วางไว้ตรงไหน บางคนรดน้ำทุกวัน แดดไม่เคยโดนเลย” 
กลุ่ม ยูโฟเบีย (Euphorbia) เป็นกลุ่มที่คุณเป้ ชอบมากที่สุด
แมมลูกกอล์ฟ (Mammillaria humboldti )
อากาศสำหรับแคคตัส
ด้านสถานที่วางแคคตัส ถ้าอยากเลี้ยงให้สวย ต้องเลี้ยงในที่ที่มีแดดส่องถึงอย่างน้อยครึ่งวัน หรือ 6 ชั่วโมง ไม้จะสวยขึ้น หรือมากกว่านั้นก็ยิ่งดี แต่ถ้ามีจำนวนเยอะขึ้นและสนใจเลี้ยงจริงๆ คุณเป้แนะนำให้ทำโรงเรือนเล็กๆ เพื่อกันฝน

“เราจะมีปัญหาช่วงหน้าฝนที่มีน้ำเยอะเกินไป กระบองเพชรมีแค่นี้จริงๆ โรงเรือนก็แค่ใสให้แดดส่องได้ 100% โรงเรือนมีลมพัดถ่ายเทได้ กระบอกเพชรชอบร้อนและลมพัดผ่านดี แค่นี้ไม่งอแง ไม่ต้องเอาใจมาก”

โรคและแมลง สำหรับแคคตัส
แคคตัสจำเป็นต้องใช้ยาป้องกันโรคและแมลงมากมั้ย คุณเป้เล่าประสบการณ์ของตัวเองแทนคำตอบ

“ผมจะพยายามไม่ใช้ยาแรง แต่จะใช้พวกสมุนไพร น้ำส้มควันไม้ เพื่อฉีดป้องกัน เดือนละ 2 ครั้ง แต่เมื่อถึงเวลาที่มันระบาด จำเป็นต้องใช้ยาแรง ใช้ พอสซ์ (คาร์โบซัลแฟน) เพื่อฆ่าเพลี้ย หนอน ไม่ให้เกิดการระบาด ต้นไหนมีโรคแยกต้นนั้นออกมาไม่ให้ลามไปต้นอื่น 

แต่โรคบางตัวก็เกิดจากสถานที่เลี้ยงมีแดดน้อยเกินไป หรือระบายอากาศไม่ดี อย่างต้นที่เป็นราสนิม เกิดจากแสงแดดน้อยเกินไป โดยเฉพาะพันธุ์ Coryphantha หรือช้าง มักจะเกิดตุ่มสีน้ำตาล นั่นคือราสนิม มันเกิดจากแดดไปพอ ดังนั้นนักเล่นมือใหม่แม้จะเลี้ยงน้อยๆ ก็จำเป็นต้องใช้ แต่แค่ป้องกัน และใช้เป็นประจำก็พอ เพื่อไม่ให้โรคแมลงเข้ามาระบาด 

“ผมจะมีโซนเลี้ยงไม้เพื่อการประกวด ก่อนเข้าประกวดประมาณ 2 เดือนจะแยกออกมาดูแลเป็นพิเศษ เพื่อบำรุงให้สมบูรณ์ จะเลี้ยงไม่เหมือนไม้ทั่วไป การให้ปุ๋ย ให้น้ำไม่เหมือนกับไม้ทั่วไป ผลงานติดรางวัลมาทุกประเภทที่ปลูก มีไม้ยูโฟเบีย เป็นไม้ที่กวาดรางวัลมาทุกเวที” 
มือใหม่ เลี้ยงสายพันธุ์อะไรดี
คุณเป้ แนะนำผู้สนใจเลี้ยงแคคตัสว่า ต้องถามใจตัวเราว่าชอบแบบไหน ชอบเล่นตามกระแส หรือเล่นตามที่ตัวเองชอบ ถ้านักเล่นหน้าใหม่มีเงินถึง ต้องการเล่นสายพันธุ์ใหม่ๆ หายาก ก็จำเป็นต้องศึกษาว่าลักษณะนิสัยของแต่ละพันธุ์เป็นอย่างไร เลี้ยงอย่างไร รดน้ำอย่างไร

“อย่างพวกยิมโนด่าง ยิมโนแอลบี พวกนี้ราคาหลักร้อยหลักพัน เล่นได้แต่ต้องศึกษา การสั่งซื้อในเว็บบางทีสีสันก็ไม่เหมือนตัวจริง เรื่องอย่างนี้ถามผู้รู้ ถามเจ้าของสวน ซึ่งเขาพร้อมจะให้ความรู้ เลือกสวนที่เขาให้ความรู้กระจ่างเต็มที่ แต่หลักๆ เราจะเล่นแพงก็ได้ เล่นถูกก็ได้ แต่ขอให้ศึกษาให้ดี ความชอบของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน อย่างผมก็เริ่มจากต้นละ 10 บาท 20บาท แต่สนใจศึกษาจริงๆ ไม้กอใหญ่ๆ ของผมที่มีอยู่ในสวนทุกวันนี้ ก็เริ่มจากต้นละ 25 บาท วันนี้มันกอใหญ่สวย และมีมูลค่าขั้นมาได้” 
ไม้ที่ เป้ หนามแดงชอบ
ถ้าพูดถึงเรื่องแคคตัส คุณเป้ เป็นคนหนึ่งที่มีความแตกฉาน แต่ถ้าถามเรื่องความชอบส่วนตัว เขาบอกว่า ส่วนตัวจะชอบตระกูลซัคคิวเลนท์ (Succulent) ได้แก่ กลุ่ม ยูโฟเบีย (Euphorbia) เขาจะเก็บสะสมไว้ทุกตัว

“ไม้กลุ่มนี้จะเลี้ยงง่ายกว่ากระบองเพชร เพราะไม่มีโรคและแมลงรบกวนมาก ไม่มีเชื้อรา เพลี้ยแป้ง ไม้ตระกูลยูโฟเบีย มีแดด มีลมพัดถ่ายเทได้สะดวก โรคแมลงก็น้อย ไปไหนมาไหนต่างจังหวัดนานๆ ได้ ไม่ต้องรดน้ำเป็นอาทิตย์ก็อยู่ได้ ต้นที่ผมเลี้ยงมานานสูงสุด 15 ปี แต่จุดอ่อนเรื่องสายพันธุ์ใหม่ๆ มีน้อย เพราะการปลูกเลี้ยงใช้เวลานาน กว่าจะขายได้ ต่างจากกระบองเพชรที่ใช้เวลาสั้นกว่า การพัฒนาพันธุ์จึงน้อย แต่ก็มีอีกกลุ่มหนึ่งที่มีกระแสแรงขึ้นมาคือ กลุ่มยูโฟเบีย ฟรองซัวร์ (euphorbia francoisii ) เขาเล่นขนาดใบ ลายใบหรือกระดูกใบ แต่ของผมเน้นรูปทรง มีทำเป็นแบบแนวบอนไซ เน้นราก ลีลา 
Euphorbia ambovombensis รูปทรงคล้ายบอนไซ ต้นเก่งของ เป้ หนามแดง
กุหลาบหินลูกชุบ (Echeveria) 

Mammillaria microthele
กลุ่มกุหลาบหิน ลูกชุบ (Echeveria)เป็นอีกตัวที่โดดเด่นในสวน สามารถเลี้ยงแดด 100% รดน้ำ 3-4 วันครั้ง แต่ปัญหาคือ รดน้ำเยอะเกิน โดยคุณเป้จะเน้นตัวแดงหลังม่วง และตัวด่าง

กลุ่มแมมนกฮูก (Mammillaria microthele) ทำเชิงปริมาณราคาไม่สูง ให้นักเล่นหน้าใหม่เข้ามาเล่นได้ และเพื่อเพิ่มปริมาณนักเล่นเพิ่มสูงขึ้น

“ทำราคาไม้ตลาดเริ่มต้นที่ 20 บาท แต่ทำไม้ไซส์ใหญ่ขึ้นมาหน่อย แต่ระบบรากแข็งแรง และต้นใหญ่”

ผู้สนใจแคคตัส สามารถเจอกับคุณเป้ได้ที่ ตลาดนัดสวนจตุจักร (โครงการ 23) หกโมงเช้าถึงบ่ายสาม และงานต้นไม้ต่างๆ ในภาคตะวันออก หรือโทรสอบถามได้ที่ เบอร์โทรด้านล่าง 

#แคคตัส #กระบองเพชร #cactus #ไม้อวบน้ำ
[ทีมงานต้นไม้และสวนออนไลน์] 
ขอขอบคุณ
คุณบริรักษ์ สาระโกเศศ 
โทรศัพท์ 089-8160148