Durain

[ทุเรียนเงินล้าน][bsummary]

Date Palm

[อินทผลัม][twocolumns]

Cactus

[แคคตัส][bleft]

Adenium

[ชวนชม][bsummary]

Garden

[จัดสวน][bsummary]

DEAW CACTUS นักสะสมและพัฒนาแคคตัส 3 พันธุ์ดัง

ถ้า Poke'mon Go คือปรากฏการณ์ในโลกเกมออนไลน์ กระแสความนิยม แคคตัส และไม้อวบน้ำ ก็คงไม่ต่างอะไรกับ Poke'mon ในวงการต้นไม้เช่นกัน เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นักเล่นต้นไม้จำนวนมากหันมาให้ความสนใจไม้อวบน้ำทนแล้งตัวนี้ พร้อมกับดึงดูดนักเล่นหน้าใหม่เข้ามาอยู่ใน เวทมนต์ ของแคคตัส

ทีมงาน ต้นไม้และสวนออนไลน์ บุกมายังรังของนักสะสมแคคตัสชื่อดังนาม วีระศักดิ์ สีแตงสุก หรือ เดียวแคคตัส ย่านพระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ

จะว่าไปแล้วที่นี่คงไม่ต่างอะไรกับ Poke'Spot ในเกม Poke'mon Go เพราะเป็นรังที่นักเล่น นักสะสมและนิยมแคคตัสต้องเข้ามาหาไม้พันธุ์ใหม่ ฟอร์มสวย แปลก และหายาก ไปปลูกเลี้ยง ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เราไปทำความรู้จักสวนเดียวแคคตัสและไม้สะสมของเขากันดีกว่า

ผมเริ่มเล่นแคคตัสมา 20 กว่าปี เมื่อก่อนก็หาซื้อจากตลาดจตุจักร เลือกพันธุ์ที่ราคาไม่สูงมากนัก เพราะความชอบรูปลักษณ์ที่แตกต่างจากต้นไม้ชนิดอื่นอย่างสิ้นเชิง มันแค่ดูต้น ดูรูปทรงต้นมันก็สวยแล้ว” 

พี่เดียว บอกเล่าจุดสตาร์ท ในการเริ่มสะสมแคคตัสให้พวกเราฟัง พร้อมกับปูพื้นฐานว่า ยุคนั้นพันธุ์แคคตัสยังไม่หลากหลายนัก มีไม่ต่ำกว่า 2,000 ชนิด (นี่ขนาดไม่หลากหลายนะ)  แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นพันธุ์แท้ ต่างกับยุคปัจจุบันมีเพิ่มขึ้นมากกว่า 3,000 ชนิด เนื่องจากมีการผสมและพัฒนาพันธุ์ขึ้นมาจำนวนมาก ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยให้แคคตัสได้รับความนิยม

“ช่วงแรกๆ นักเล่นนิยมเล่นตัวสายพันธุ์แท้ พันธุ์ดั้งเดิม แต่พอเลี้ยงมาก็ค่อยๆ คัดตัวแปลก ใหม่ๆ อย่างตัวที่นักเล่นญี่ปุ่นพัฒนาขึ้นมา ซึ่งเขาพัฒนามานานกว่าเรา แคคตัสจึงมีหลากหลายมากยิ่งขึ้น”

ส่วนพี่เดียวก็เลือกเก็บสะสมมันทุกตัวที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์มีหนามหรือไร้หนาม รวมถึงพืชในตระกูล ซัคคิวเลนท์ (Succulent) อื่นๆ  ส่วนหนึ่งก็เป็นการศึกษาพันธุ์และวิธีปลูกเลี้ยงไปพร้อมกัน แต่ถ้าถามว่าเขาชอบกลุ่มพันธุ์ไหนมากที่สุด ก็คงต้องไปดูว่าในรังมีตัวไหนมากที่สุด และคำตอบก็คือ 3 กลุ่มพันธุ์ คือ Astrophytum และ Ariocarpus แต่ระยะหลังปันใจเพิ่มมารักกลุ่ม Gymnocalycium อีกตัว เรามาทำความรู้จักแคคตัสทั้ง 3 กลุ่มพันธุ์ว่ามีลักษณะและเสน่ห์อย่างไร
แอสโตรไฟตัม (Astrophytum) เรียกกันย่อๆ ว่า Astro ลักษณะเด่นของกลุ่มพันธุ์นี้จะไม่มีหนาม ต้นสีเขียว หัวกลมแป้น มีทั้งแบบหัวทรงกลมและแบน มีจุดประขาวเรียงตัวรอบต้น และมีปุ่มขนแทนปุ่มหนาม ดอกรูปกรวย สีเหลือง โคนกลีบสีแดงหรือสีส้ม เสน่ห์ของกลุ่มพันธุ์นี้ อยู่ที่ลายจุดประขาวรอบต้นและปุ่มขน เรียงตัวสวยเป็นระเบียบ หรือลายแปลกตา รวมถึงตัวที่มีลายด่างก็ได้รับความนิยมสูง

“เสน่ห์อีกอย่างของ Astro เวลาเราคัดลายสวยๆ มาผสมใหม่ เราจะได้ลุ้นว่าลายจะเป็นอย่างไร ตัวไหนสวยเราก็คัดขึ้นมา ลายและทรงจะไม่เหมือนพ่อแม่ มันได้รอ ได้ลุ้น” พี่เดียวพูดถึงความสนุกและท้าทายในมุมของนักพัฒนาพันธุ์

อริโอคาร์ปัส  (Ariocarpus) เรียกสั้นๆ ว่า Ario ลักษณะพิเศษของไม้กลุ่มนี้จะมีกลีบ รอบๆ ต้น แต่ละพันธุ์จะแตกต่างกันไป ทั้งกลีบใหญ่ กลีบเล็ก แหลม และจะมีตัวที่พัฒนาจนกลีบแปลกออกไป เช่น จากกลีบเรียบๆ กลีบเป็นมีลายขรุขระดูคล้ายหิน
ยิมโนคาไลเซียม (Gymnocalycium) เรียกกันว่า Gymno ลำต้นมีลักษณะทรงกลม หรือกลมแป้น มีสันหนามแยกออกจากลำต้นอย่างชัดเจน แต่กลุ่มพันธุ์ที่โดดเด่นและได้รับความนิยมคือกลุ่มยิมโนหัวสี ที่เป็นไม้ต่อหัว หรือ “ไม้กราฟต์” ซึ่งมีหลากหลายสีสัน เช่น สีแดง สีเหลือง สีส้ม แต่พี่เดียวชอบที่จะสะสมพวกยิมโนด่างสี และยิมโนที่มีลายสวย และแปลก จากต่างประเทศ นอกจากการสะสมและขยายพันธุ์แล้ว พี่เดียวยังชอบที่จะพัฒนาพันธุ์ 

เวลาเราผสมและเพาะออกมา ลูกมันมีความสวยหลายระดับ เราต้องมาคัดเอา ถ้าลูกออกมาแล้วเป็นเหมือนตัวดั้งเดิม จะไม่เป็นที่นิยม แต่เราก็ขายเป็นไม้ตลาดราคาไม่แพงได้ ส่วนตัวที่แปลก ลายสวยๆ เราก็คัดเป็นไม้อีกเกรด เพราะถือว่าหายาก”
Gymnocalycium friedrichii LB 2178 Agua Dulce
พี่เดียวยกตัวอย่างการพัฒนาพันธุ์แคคตัสในกลุ่มยิมโนด่างให้ฟังว่า 

“หลายๆ คนจะชอบตัวยิมโนด่าง ที่มีสีสัน หลากหลายสีในต้นเดียวกัน มีตั้งแต่เหลือง แดง ส้ม แต่หลังๆ มีตัวใหม่ออกมา คือ  ยิมโน  LB218 (Gymnocalycium friedrichii LB 2178 Agua Dulce) เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ (ยูเครน รัสเซีย) เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตัวนี้ลายจะมีลักษณะเฉพาะ เราจะนำมาพัฒนากับพวกยิมโนด่างสี ให้ได้เป็นตัวใหม่ขึ้นมา ลูกที่ออกมาจะได้ลายของ LB และได้สีจากยิมโนตัวด่าง ลูกที่คัดได้ราคาค่อนข้างสูง เพราะยังไม่มีคนทำมากนัก ราคาต้นเล็ก 3,500 – 6,000 บาท
ลูกผสมระหว่างGymnocalycium friedrichii LB 2178 กับ ยิมโนด่างสี 
“แต่มันยังไม่จบ ยังมีแนวทางการพัฒนาต่อเรื่อยๆ เพราะลูกผสมที่ได้ ยังไม่ได้รูปทรงที่เหมือน LB ออริจินอลมากนัก แต่ได้แค่ใกล้เคียง ได้ลาย ได้พู หลักการพัฒนาต่อไปคือ พี่จะนำชุดพี่น้องมาผสมกัน ดึงตัวที่มีรูปทรงเหมือน LB มาผสมกัน หรือไม่ก็นำลูกผสมใหม่ๆ ผสมเข้ากับตัวออริจินอล ให้เลือดเข้มข้นขึ้น เพื่อให้ได้ต้นที่ทรงและลายแบบ LB สีแบบยิมโนด่าง”


เจ้าของ DEAW CACTUS บอกว่า ยิมโนตัวด่างนักเล่นนิยมสูง แต่ต่อไปทุกคนก็จะมีเหมือนๆ กัน เพราะเริ่มทำออกมาได้มาก อนาคตความนิยมจะลดลง แต่ถ้าอยากหาตัวใหม่ๆ มาทำให้ตลาดมีความต่อเนื่อง ก็ต้องพัฒนานำไปล่วงหน้าเพื่อรองรับตลาด
ทั้งนี้การผสมแคคตัสแต่ละรุ่นต้องใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี แต่ก็มีวิธีย่นระยะเวลาได้ โดยนำต้นลูกผสมที่มีอายุประมาณ 2 ปี มากราฟต์ กับต้นตอ เพื่อเร่งให้โตเร็วขึ้น ใช้เวลาเพียงแค่ 1 ปีกว่าก็ออกดอก จากปกติ 4-5 ปี ดูเทคนิคกราฟต์แคคตัส
เลี้ยงแคคตัส ใช้พื้นที่น้อย ดูแลง่าย

แคคตัสใช้พื้นที่น้อย ดูแลง่าย ไม่ต้องรดน้ำทุกวัน แต่ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ คือปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดกระแสความนิยมขึ้นมาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาก พี่เดียวให้ข้อมูล

“ถ้าปลูกไม้ประดับตัวอื่นๆ อย่างน้อย 1 ต้น ใช้พื้นที่ไม่ต่ำกว่า 1x1 ฟุต แล้ว สำหรับคนไม่มีพื้นที่ อยู่คอนโด มีแต่พื้นที่เล็กๆ ไม่มีพื้นที่แบบบ้านใหญ่ๆ จะเลี้ยงต้นไม้ไม่ได้มาก แค่ถ้าเป็นแคคตัส มีแค่ระเบียงเล็กๆ ก็เลี้ยงได้หลายต้นแล้ว

“กระแสในการนำแคคตัสไปเป็นคอลเลคชั่นสำหรับโพสต์ในเฟสบุ๊ค นำไปตกแต่งกับของแต่งเล็กๆ กระจุ๊กกระจิ๊กได้ มีพื้นที่ วางบนชั้นวางแนวตั้งก็ได้
ข้อดีของการเลี้ยงแคคตัสที่สำคัญอีกอย่างคือ ทนแล้ง หากไม้อื่นลืมรดน้ำวันสองวันก็ตายแล้ว แต่แคคตัสเราไปเที่ยวสามวันห้าวันกลับมาก็ยังไม่ตาย รดน้ำได้ตั้งแต่ 3 วันครั้ง 5 วันครั้ง และอาทิตย์ละครั้ง กลัวอย่างเดียวคือรดน้ำบ่อยแล้วเน่า ดังนั้นดินหรือเครื่องปลูกจึงต้องมีความสัมพันธ์กับการรดน้ำ คุณสมบัติหลักๆ คือ มีอาหารสมบูรณ์ อุ้มความชื้นได้พอเหมาะ โปร่ง ระบายน้ำและอากาศได้ดี และใส่ปุ๋ยละลายช้าบ้างเท่านั้นเอง

“ส่วนเรื่องดอกก็เป็นแรงดึงดูดอย่างหนึ่ง แต่แคคตัสแต่ละสายพันธุ์ก็แตกต่างกัน บางพันธุ์ออกดอกเร็ว ช้า ต่างกัน แล้วแต่เลือก ถ้าชอบดอกเน้นดอกก็เลือกตัวที่ออกดอกง่าย อย่างพวก โลบิเวีย (Lobivia) และยิมโน เน้นทรงต้นก็เลือกที่ตัวเองชอบ ชอบหนาม มีให้เลือกแล้วแต่คนชอบ แต่ถ้าจะเอาแบบครบเครื่องก็ ยิมโน ดูได้ทุกวันทั้งต้นและดอก”
อริโอคาร์ปัส  (Ariocarpus)

Gymnocalycium

พี่เดียวแนะนำว่า หากเริ่มสะสมแคคตัสเยอะขึ้น จำเป็นต้องมีโรงเรือน หลักๆ แดดส่องได้ กันฝนได้ ส่วนจะเลือกแบบไหนขึ้นอยู่กับขนาดและพื้นที่ของแต่ละคน

“อย่างเดี๋ยวนี้ตามระเบียงห้อง จะมีชั้นวางแคคตัส ก็แค่นำพลาสติกใสมาคลุมกันฝน หรือจะหาซื้อตู้พลาสติกใสที่มีขายแบบสำเร็จรูปก็มี อย่างมีทุนมีพื้นที่ก็ต้องทำเป็นโรงเรือนขึ้นมาเพื่อกันฝน และแดดส่อง แต่อย่างของพี่เป็นสวน เราใช้ระยะยาว จึงต้องสร้างโรงเรือนมาตรฐานขึ้นมา”
 แคคตัสราคาเป็นมิตรกับนักเล่นทุกระดับ

ใครที่ชื่นชอบแคคตัส ไม่ต้องกลัวว่ามันจะมีราคาแพง เพราะด้วยความหลากหลายพันธุ์ของมัน จึงมีให้เลือกเล่นได้ตามเงินในกระเป๋าของแต่ละคน โดยมีให้เลือกตั้งแต่ต้นละ 10 บาท สำหรับพันธุ์ที่ขยายพันธุ์ง่ายๆ แต่พอเริ่มเลี้ยงเป็นก็ขยับสายพันธุ์ใหม่ ราคาสูง หลักร้อย แต่ถ้าอยากได้ตัวสวยๆ แปลกๆ  ก็ต้องซื้อราคาหลักพัน นี่เป็นเหตุผลให้คนเริ่มเล่นแคคตัสได้ง่าย กว่าไม้อื่นๆ

“ถ้าให้แนะนำนักเล่นที่สนใจอยากเลี้ยงแคคตัส ให้เริ่มเล่นไม้ราคา 10-20 บาทก่อน ศึกษาเรียนรู้วิธีเลี้ยง ค่อยๆ ศึกษาสายพันธุ์ ถ้าเลี้ยงตายก็จะไม่เสียดายไม่หมดกำลังใจ เมื่อเลี้ยงเป็นแล้ว ก็ค่อยซื้อตัวใหม่ๆ มาเลี้ยง แต่ถ้าซื้อต้นแพงๆ มาเลย โดยยังไม่รู้เลยว่าเลี้ยงยังไง พอตายแล้วจะท้อและเลิกเล่น  เพราะโดยพื้นฐานไม้ราคาแพงจะขยายพันธุ์ช้า เลี้ยงดูพิเศษ ยังไม่เหมาะกับมือเริ่มเล่นใหม่” พี่เดียว เจ้าของ DEAW CACTUS แนะนำนักเล่นมือใหม่
#แคคตัส #กระบองเพชร #cactus #ไม้อวบน้ำ

ติดตามพวกเราได้ที่ website : http://tonmailaesuan.com/
Facebook https://web.facebook.com/tonmailaesuanonline/
อย่าลืมกด like ให้พวกเราที่หน้า Facebook Page ด้วยนะคะ


ขอขอบคุณ
คุณวีระศักดิ์ สีแตงสุก
129 ม. 1 สุขสวัสดิ์ 55 ปากคลองบางปลากด พระสมุทรเจดีย์  สมุทรปราการ 10290
โทรศัพท์ 08-1274-0169
ดูข้อมูลเพิ่มเติม : www.deawcactus.com
อริโอคาร์ปัส  (Ariocarpus)